ช่องโหว่กฎหมาย รับบริจาคช่วยหมาแมวจนรวยอู้ฟู่!


925

ช่องโหว่กฎหมาย รับบริจาคช่วยหมาแมวจนรวยอู้ฟู่!
เมื่อ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีการการบุกเข้าช่วยเหลือหมาและแมว ที่บ้านหลังหนึ่ง ในเขตคลองสามวา กรุงเทพฯ
เมื่อหมาและแมวกว่าร้อยชีวิต ถูกเจ้าของซึ่งเปิดเพจรับบริจาคช่วยเหลือหมาและแมวบังหน้า แต่กลับปล่อยทิ้งไว้ จนบางตัวอยู่ในสภาพเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ขณะที่ภายในบ้านยังพบซากสุนัขและแมวจำนวนมากส่งกลิ่นเหม็น ขณะที่บางซากก็เหลือแต่กระดูก
“คุณแสงเดือน ชัยเลิศ” ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า “เราเจอปัญหาแบบนี้ไม่เคยหยุด และลักษณะแบบนี้ไม่ใช่บ้านที่เป็นรายย่อย แต่เป็นบ้านที่ไปเอาแมวมา แล้วรับแมวมาดูแล ส่วนบางพื้นที่ก็จะมีการเช่าบ้าน เมื่อก่อนอาจจะมีรายได้ดี บางคนพบว่ามีการผ่อนบ้านเอาไว้หลายหลังเลย เพื่อทำแบบนี้” และปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ยังเกิดขึ้นอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะขบวนการรับเลี้ยงหมาและแมวเพื่อหวังเงินบริจาค


กลุ่มคนเหล่านี้ มักจะมีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน เรียกตัวเองว่า “จิตอาสา” เข้าไปช่วยหมาและแมว ที่ถูกทิ้ง ถูกขังตามบ้าน รับไปเลี้ยงดู ก่อนจะนำมาเปิดช่องทางระดมทุน เมื่อคนสงสารก็แห่กันมาบริจาค หรือบางครั้งแอบแฝงมาในรูปแบบการขายของ เช่น พวงกุญแจ และขายในราคาที่แพง ค้ากำไรเกินควร ชิ้นละ 100-200 บาท แต่ก็มีคนยอมซื้อ เพราะเชื่อว่า เงินจะถูกนำไปช่วยสัตว์
“กลุ่มที่หากินกับแมว จะเลือกรับเคสแมวที่เจ็บหนักๆ บางครั้งทะเลาะกันแย่งเคสอาการหนัก เคสดัง เพราะจะได้มีคนบริจาคเยอะ”
เมื่อสังคมเลิกสนใจก็จะนำไปฝากเลี้ยงที่อื่น ซึ่งให้ค่าเลี้ยงตัวละ 2,000 บาท และจ่ายรายเดือนตัวละ 500 บาท แต่วันดีคืนดีกลับไม่ยอมจ่ายเงิน ส่วนคนที่รับเลี้ยงก็ดูแลบ้าง ไม่ดูแลบ้าง บางวันก็ไปนำแมวออกมา ถ่ายรูป โพสต์ให้คนที่บริจาคดูว่า แมวยังสบายดี
ในบางเคสที่มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กรณีล่าสุดในบ้านหลังหนึ่ง พบเลี้ยงแมวกว่า 400 ตัว เจ้าของถึงกับซื้อบ้าน เพื่อแบ่งแมวไว้บ้านแต่ละหลัง เช่น หลังที่ 1 สำหรับถ่ายภาพอัปเดต โชว์แม่ยก แต่ถ้าหากตัวไหนป่วย จะย้ายไปที่บ้านหลังที่ 2 แล้วปล่อยให้ตาย


ทั้งหมดนี้ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม พยายามฉายภาพให้เห็นขบวนการของนักบุญที่หาประโยชน์หมา แมว หลังจากติดตามพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้มานาน โดยเฉพาะเคสชาวต่างชาติ ที่เข้ามาเปิดรับบริจาค ทำหมันหมา แมว ช่วงน้ำท่วมใหญ่ ปี 54 ได้เงินบริจาคกว่า 14 ล้าน สุดท้ายหนีออกนอกประเทศ จนถึงขณะนี้ยังตามตัวไม่ได้ หรือ บางคนที่พบ มีเงินซื้อบ้าน ซื้อรถหรู ซื้อที่ดิน
“ถ้าหากเป็นคนที่รักหมา แมวจริงๆ จะไม่มีเงินเหลือเก็บเลย แถมเป็นหนี้ เราไม่ได้กำไรจากตรงนี้เลย เมื่อนำหมา แมว มาเลี้ยงมีแต่รายจ่าย บางคนเลี้ยงเยอะๆ แล้วมีรถหรูขับ มันก็น่าสงสัยว่า มีเงินซื้อรถหรูขับ แล้วหมา แมวที่เลี้ยงไว้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่”
ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ที่มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เข้าช่วยเหลือหมาและแมว ที่ถูกทิ้งไว้ตามบ้านพักพิง สถานสงเคราะห์ ถูกทิ้งในจำนวนมาก บางแห่ง มีหมาและแมวรวมๆ ตั้งแต่ 100-400 ตัว และเจอปัญหาแบบนี้ไม่ได้หยุดหย่อน จนตอนนี้ที่มูลนิธิฯ รับดูแลหมา แมว ที่รอดชีวิตไว้กว่า 3,000 ตัว ยังไม่นับรวมที่ตายไปแล้วด้วย


“ที่สถานสงเคราะห์ ไม่ยอมขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ เพราะกลัวถูกตรวจสอบทางการเงิน เนื่องจากการขึ้นทะเบียนจะต้องทำระบบ ส่งรายชื่อ, จำนวน, รายรับรายจ่าย, การรักษา, แผนการดูแลสัตว์ และสวัสดิภาพสัตว์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ยอมขึ้นทะเบียน เข้าระบบ พยายามเลี่ยงไม่ให้ถูกตรวจสอบ”


คุณแสงเดือน อธิบายว่า เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ตรวจสอบว่า สถานสงเคราะห์สัตว์เหล่านี้ มีการขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์หรือไม่ จึงทำให้สถานสงเคราะห์ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งในความหมายก็คือ สถานสงเคราะห์เถื่อน ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ใครอยากจะเปิดก็เปิดได้ เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ คาดว่า มีไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง และถ้าหากคิดเป็นทั้งประเทศคาดว่า มีไม่ต่ำกว่า 1,000 แห่ง
ปัจจุบันมีสถานสงเคราะห์สัตว์มากกว่า 200 แห่ง ทั่วประเทศ แต่ที่มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนไว้กับกรมปศุสัตว์เพียง 60 แห่ง ซึ่งที่มาขึ้นทะเบียนไว้ ทางกรมปศุสัตว์ก็สามารถเข้าไปดูเรื่องการจัดสวัสดิภาพได้


กฎหมายก็เป็นการมุ่งเน้นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปช่วยเหลือส่งเสริมการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งการป้องกันโรคและการควบคุมปริมาณ “ไม่ใช่กฎหมายที่ไปควบคุมการเกิดขึ้นของสถานสงเคราะห์สัตว์ เพราะฉะนั้นใครก็ได้ ที่อยากจะตั้ง ก็มาขอขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ แต่ต้องไม่มีวัตถุประสงค์เรื่องของการเมืองและการหาประโยชน์จากรายได้ หรือประกอบธุรกิจ”


Like it? Share with your friends!

925

Comments

comments